ประวัติภาควิชา
ประวัติภาควิชานิติเวชศาสตร์
การให้บริการด้านนิติเวชของวชิรพยาบาล เข้าใจว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยก่อสร้างโรงพยาบาล โดยแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ที่ตึกอุบัติเหตุจะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบงานด้านการออกใบชันสูตรบาดแผลให้กับพนักงานสอบสวน โดยมีการบันทึกบาดแผลผู้ป่วยคดี และออกใบชันสูตรบาดแผลให้กับพนักงานสอบสวน รวมถึงการไปเป็นพยานศาลในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ การบันทึกหลักฐานทางการแพทย์เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ตรวจผู้ป่วยที่ตึกอุบัติเหตุจะเป็นผู้บันทึกรายละเอียดบาดแผล ในเวชระเบียนผู้ป่วยนอก ขณะเดียวกันพยาบาลประจำตึกอุบัติเหตุจะมีการบันทึกในส่วนที่เป็นหลักฐานอื่น ๆ ด้วยเช่นสาเหตุหรือพฤติการณ์ของการเกิดเหตุเบื้องต้นจากผู้ป่วยเองหรือจากผู้นำส่ง นอกจากนี้การเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลและผู้ป่วยเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติในโรงพยาบาล แพทย์ประจำตึกอุบัติเหตุก็จะเป็นผู้ดำเนินการชันสูตรพลิกศพ การผ่าชันสูตรศพ และออกใบรายงานการตรวจศพ ให้กับพนักงานสอบสวน เช่นเดียวกัน รวมถึงการไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในกรณีดังกล่าวในศาลด้วย
การให้บริการด้านนิติเวชของวชิรพยาบาลจะมีพยาบาลที่ตึกอุบัติเหตุรับผิดชอบจำนวน 1 คน ซึ่งคอยดูแลประสานงานกับพนักงานสอบสวน และจัดหาเอกสารเพื่อช่วยเหลือแพทย์ในการออกใบชันสูตรบาดแผล เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมาตลอด สถานที่ผ่าศพใช้สถานที่ร่วมกับหน่วยพยาธิวิทยา ปัจจุบันคือภาควิชาพยาธิวิทยากายวิภาค ที่ห้องนิรมัยตั้งอยู่ชั้นล่างของตึกศัลยกรรมกระดูก
ในครั้งก่อน ๆ วชิรพยาบาลไม่มีแพทย์นิติเวช จึงได้ยังเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มาให้คำปรึกษาในเรื่องการออกใบชันสูตรบาดแผลสำหรับผู้ป่วยคดีและแนะนำเรื่องการเป็นพยานในศาลของแพทย์และช่วยในการผ่าศพการตายโดยผิดธรรมชาติครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2518 ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์สมชาย ผลเอี่ยมเอก และในปี พ.ศ. 2525 ได้เชิญศาสตราจารย์พันตำรวจเอกนายแพทย์ถวัลย์ อาสนเสน มาเป็นที่ปรึกษาเรื่อยมา ถือว่างานนิติเวชอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานระดับหนึ่ง จนถึงในปี พ.ศ.2531 ได้มีการบรรจุนายแพทย์จรูญศักดิ์ นวลแจ่ม ตำแหน่งเป็นแพทย์นิติเวชคนแรกของโรงพยาบาลและคนแรกของสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร สังกัดกลุ่มบริการทางการแพทย์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มงานอุบัติเหตุและนิติเวชวิทยา ในปี พ.ศ. 2541 ได้เปลี่ยนเป็นภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวชศาสตร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2547 ได้แยกเป็นภาควิชานิติเวชศาสตร์ โดยมีนายแพทย์จรูญศักดิ์ นวลแจ่มเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ คนแรก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2548 ถึงมีแพทย์นิติเวชคนที่ 2 และในปี พ.ศ.2553 วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลกรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนมาเป็นคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2555 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัย นวมินทราธิราช ปัจจุบันภาควิชานิติเวชศาสตร์มีแพทย์นิติเวช 5 คน แล้วเริ่มให้บริการด้านการชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา
ในด้านการเรียนการสอนวิชานิติเวชศาสตร์ ได้เริ่มมีการสอนนักศึกษาแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล รุ่นที่ 1 ในปี พ.ศ. 2536 โดยร่วมมือกับสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนถึงในปี พ.ศ. 2549 ภาควิชาได้ร่วมจัดการเรียนการสอนกับภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปีการศึกษา พ.ศ.2554 ภาควิชาได้รับความร่วมมือจากหลายสถาบันในเรื่องจัดการเรียนการสอนการฝึกปฏิบัติงาน การดูการฝึกปฏิบัติงานในศาล เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ฯ ได้มีความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านนิติเวชครบถ้วนตามมาตรฐานวิชาชีพ